สำหรับงานอีเวนต์แล้ว การทำการตลาดถือเป็นปัจจัยสำคัญมากในการประสบความสำเร็จ และก็เป็นงานที่ท้าทายมากๆ ในการจะทำออกมาให้ดีด้วย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อในปัจจุบันมีตัวเลือกงานอีเวนต์ให้ผู้บริโภคตัดสินใจเป็นจำนวนมาก ทีมงานเบื้องหลังในฐานะ Event Manager หรือ Planner เองก็จำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ในการโปรโมตที่ดีด้วยถึงจะไปรอดได้
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในปารโปรโมตงานอีเวนต์แบบดั้งเดิมอย่างการติดโปสเตอร์ หรือสป็อตโฆษณาก็อาจเป็นทางเลือกที่ค่าใช้จ่ายสูงและมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ในทางกลับกันช่องทางดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย หรือการทำการตลาดผ่านอีเมลเองก็เป็นงานที่ทั้งกินเวลาและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการทำเป็นอย่างมาก
บทความชิ้นนี้จะพาคุณไปสำรวจวิธีการทำ Event Marketing ที่น่าใช้ ได้ผล และสามารถช่วยให้คุณโปรโมตงานอีเวนต์เพื่อดึงคนให้มาร่วมงานได้มากขึ้นไปพร้อมๆ กันครับ
สารบัญ
• สร้าง Brand Identity สำหรับอีเวนต์ของคุณให้แข็งแรง
• สร้างเว็บไซต์สำหรับงานอีเวนต์ ที่ทำได้ทั้งให้รายละเอียดและอำนวยความสะดวก
• ใช้ Email Marketing ในการสื่อสารกับผู้ร่วมงาน
• ใช้โซเชียลช่วยกระตุ้นการรับรู้
• ใช้สปอนเซอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ให้เกิดประโยชน์
• นำระบบลงทะเบียนและจำหน่ายบัตรมาใช้เพื่อความลื่นไหลในการจัดการ
• สร้างคอนเทนต์เพิ่ม Engagement ป้อนกลุ่มผู้ร่วมงาน
• ทำแคมเปญยิงโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายตรงๆ
• ฟังเสียงตอบรับจากผู้ร่วมงานเพื่อนำมาปรับปรุงงานครั้งต่อไป
• ใช้ Data ในมือเพื่อส่งปรับแต่งประสบการณ์งานอีเวนต์ให้เหมาะกับผู้ร่วมงาน
• บทสรุป
สร้าง Brand Identity สำหรับอีเวนต์ของคุณให้แข็งแรง
หนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการทำ Event Marketing คือการสร้างแบรนดิ้งของงานให้มีความแข็งแรงในตัวมันเอง เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้งานอีเวนต์ของคุณมีความแตกต่างจากคู่แข่งอื่นๆ ที่ทำอีเวนต์ออกมาใกล้เคียงกัน และช่วยกระตุ้นความอยากมางาน ความตื่นเต้น และดึงให้คนมาร่วมงานของคุณมากขึ้นได้ เรามีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการสร้างแบรนด์สำหรับงานอีเวนต์มาแนะนำดังนี้ครับ
เรื่องแรกคือการหาเอกลักษณ์ในงานอีเวนต์ของคุณที่แตกต่างจากคนอื่นให้เจอ รวมถึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายของงานให้ชัดเจน ตอบคำถามให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้งานของคุณแตกต่างจากงานอื่นๆ และผู้ร่วมงานที่อยากให้มาให้คุณค่ากับเรื่องอะไรเป็นหลัก ข้อมูลตรงนี้จะช่วยเป็นไกด์ไลน์ให้คุณวางกลยุทธ์ในการทำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้คุณสร้าง Brand Identity หรือตัวตนของแบรนด์ให้ออกมาเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของคุณได้
สอง เลือกชื่องานและแท็กไลน์ที่สื่อสารถึงงานอีเวนต์ของคุณได้ดี ควรจะเป็นสิ่งที่จดจำได้ง่าย ออกเสียงได้ง่าย และสามารถสื่อสารกับว่าที่ผู้ร่วมงานได้ว่าพวกเขาจะได้พบกับอะไรในงานอีเวนต์ครั้งนี้บ้าง
สาม ผลิตงานด้านภาพ (Visual) ให้สามารถนำเสนอตัวตนของแบรนด์ออกมาได้ชัดเจน และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเรื่องนี้ประกอบไปด้วยหลายสิ่ง ทั้งโลโก้ สีหลักของงาน ไปจนถึงฟอนต์ ตัวอักษรต่างๆ ที่เป็นไปในทางเดียวกันกับข้อความที่งานสื่อสารออกไป และต้องทำออกมาให้ตรงจริตกับผู้ร่วมงานของคุณด้วย
อย่าลืมว่าการทำ Brand Identity ให้แข็งแรงเป็นงานที่ต้องค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ รีบไม่ได้ แต่การลงทุนกับการสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาจะช่วยให้คุณสามารถทำงานอีเวนต์ให้ออกมาเป็นที่น่าจดจำ และมีอิมแพ็กต์กับผู้ร่วมงานจนอยากกลับมาร่วมซ้ำในครั้งต่อไปได้ครับ
สร้างเว็บไซต์สำหรับงานอีเวนต์ ที่ทำได้ทั้งให้รายละเอียดและอำนวยความสะดวก
การทำเว็บไซต์สำหรับงานอีเวนต์เป็นขั้นตอนที่ไม่ง่ายนักสำหรับงาน Event Marketing เพราะสิ่งนี้เป็นทั้งหน้าตาบนโลกออนไลน์ของคุณ เป็นพื้นที่ให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ร่วมงาน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายบัตร โพสต์ข่าวสารอัปเดต ฯลฯ อีกด้วย เว็บไซต์งานอีเวนต์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีจะช่วยให้ผู้คนอยากมาร่วมงานของคุณมากขึ้นได้ และสามารถใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารหรือเชิญให้คนมาร่วมงานอีเวนต์นี้ด้วยก็ได้เช่นกันครับ
สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้ระหว่างการสร้างเว็บไซต์คือเรื่องของ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ซึ่งควรจะทำออกมาให้ง่ายสำหรับผู้ร่วมงานเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลงานอีเวนต์ ราคาตั๋วเข้างาน สถานที่จัดงาน หรือข้อมูลคำถามที่พบบ่อยต่างๆ และนอกจากนี้ตัวเว็บก็ควรจะรองรับการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Friendly) เพราะสมัยนี้ผู้คนใช้งานอินเทอร์เน็ตกันผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลักแล้ว
และสุดท้ายอยากแนะนำให้ทำ SEO เพื่อเพิ่มยอดการมองเห็นและดึงคนเข้าเว็บไซต์ให้มากขึ้นอีกทาง เว็บไซต์งานอีเวนต์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีจะช่วยให้คุณสามารถโปรโมตงานอีเวนต์ได้ง่าย และช่วยอำนวยความสะดวกผู้ร่วมงานในการลงทะเบียน ซื้อบัตร หรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ของคุณได้มากขึ้น
ใช้ Email Marketing ในการสื่อสารกับผู้ร่วมงาน
Email Marketing นับว่าเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี ทั้งกับผู้ร่วมงานของคุณและกับคนที่ยังไม่ตัดสินใจ เพราะเครื่องมือตัวนี้จะช่วยให้คุณอัปเดต แจ้งเตือน ปล่อยโปรโมชันหรือส่วนลดไปถึงพวกเขาได้โดยตรง และการจะใช้อีเมลให้เกิดผลลัพธ์อย่างเต็มที่ ก็สามารถทำได้ด้วยการจัดหมวดหมู่ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสารด้วย อาจแบ่งตามความสนใจ พฤติกรรม หรือ Demographic อย่างเพศ อายุ ฯลฯ วิธีนี้จะช่วยให้คุณทำแคมเปญที่ตอบโจทย์สำหรับแต่ละกลุ่มได้แม่นยำขึ้น และอาจทำให้พวกเขาตัดสินใจมาร่วมงานได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
พยายามเขียนเนื้อหา Email Marketing ให้ชัดเจนและใช้ภาพที่ดึงดูดความสนใจ เขียนหัวข้อให้ดึงดูดสายตา ให้มีคำกระตุ้น (Call to Action) เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกคลิก และแน่นอนว่าเรื่องเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน พยายามอย่าส่งอีเมลบ่อยเกินไป เพราะการทำแบบนี้อาจทำให้คนตัดสินใจเลิกรับจดหมายข่าว (Unsubscribe) จากคุณได้ พยายามเลือกเวลาให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่ปล่อยออกไป จะเป็นผลดีกับทั้งตัวงานและแบรนด์มากกว่าครับ
การทำ Email Marketing เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ร่วมงานได้ดี และช่วยเพิ่ม Engagement ของงาน รวมถึงเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าไว้ได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกันครับ
ใช้โซเชียลช่วยกระตุ้นการรับรู้
โซเชียลมีเดียคือหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการโปรโมตงานอีเวนต์ให้เป็นที่รับทราบ ยิ่งคุณสามารถสร้างกระแสบนโซเชียลได้มาก คุณก็จะยิ่งกระตุ้นความอยากมาร่วมงานให้กับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณได้มากตามไปด้วย
เริ่มจากการเลือกใช้แพลตฟอร์มที่กลุ่มเป้าหมายของคุณใช้งานมากที่สุดเป็นหลัก เมื่อเลือกได้แล้ว ให้คุณค่อยๆ พัฒนากลยุทธ์ในการเข้าถึงพวกเขาขึ้นมา พยายามสื่อสารด้วยภาพกราฟิกหรือวิดีโอที่ดึงดูดสายตา (Eye-catching) เพื่อเรียกความสนใจเข้ามาหางาน และพยายามกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายของคุณแชร์โพสต์ที่ปล่อยออกไป รวมถึงใช้แฮชแท็กที่ถูกต้องในการปล่อยเนื้อหาออกไปหากลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น
และต้องไม่ลืมที่จะคอยมอนิเตอร์บัญชีโซเชียลมีเดียอยู่เป็นระยะๆ ด้วยครับ ตอบกลับคอมเมนต์หรือคำถามต่างๆ ที่มีเข้ามาให้เร็ว เพราะด้วยการ Approach ที่ถูกจังหวะ การใช้โซเชียลก็ถือเป็นตัวพลิกเกมในการโปรโมตงานอีเวนต์หรือชวนคนมาร่วมงานได้ดีมากอีกทางครับ
ใช้สปอนเซอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ให้เกิดประโยชน์
อีกหนึ่งวิธีการเพิ่มการมองเห็น (Visibility) งานอีเวนต์ของคุณให้มากขึ้นก็คือการสร้างกลยุทธ์สำหรับใช้กับสปอนเซอร์งาน หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ (Influencer) ขึ้นมา สปอนเซอร์งานอีเวนต์ของคุณสามารถช่วยได้ทั้งเรื่องการเงิน รวมไปถึงการทำให้แบรนด์ของคุณเป็นที่จดจำมากขึ้น ส่วนกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ก็จะช่วยในเรื่องของการกระจายข้อมูลข่าวสารต่างๆ ออกไปหากลุ่มเป้าหมายที่กว้างยิ่งกว่าเดิม
การเลือกพาร์ทเนอร์ที่ใช่ควรพิจารณาจากความเกี่ยวข้อง ว่าไปกันได้กับตัวงานและกลุ่มเป้าหมายทีต้องการจะจับหรือไม่ พยายามเลือกพาร์ทเนอร์งานที่มีจุดยืนต่างๆ และเป้าหมายเดียวกันกับคุณ จุดนี้จะช่วยเสริมคุณค่าที่ไม่เหมือนใคร (Unique Value) ในสายตาผู้ร่วมงานได้ดีมาก ยกตัวอย่างเช่นหากงานอีเวนต์ของคุณพุ่งเป้าไปที่เรื่องสุขภาพหรือความเป็นอยู่ที่ดี สปอนเซอร์ของงานก็ควรจะเป็นแบรนด์ฟิตเนส หรือใช้อินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น
นำระบบลงทะเบียนและจำหน่ายบัตรมาใช้เพื่อความลื่นไหลในการจัดการ
ขั้นตอนการลงทะเบียนร่วมงานอีเวนต์หรือจำหน่ายบัตรเป็นงานที่ซับซ้อนและกินเวลาไม่ใช่น้อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม การนำซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับทำงานด้าน Event Management โดยเฉพาะก็จะช่วยให้คุณทำงานมากมายจบได้บนแฟลตฟอร์มตัวเดียว (ด้วยความปวดหัวที่น้อยลง) เทคโนโลยีประเภทนี้จะทำให้คุณสามารถจัดการข้อมูลผู้ร่วมงาน ส่งคำเชิญ แจ้งเตือน หรือชำระเงินได้ในที่เดียว
การใช้ซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะทำให้การวางแผนงานอีเวนต์ของคุณสะดวกขึ้น และสามารถไปโฟกัสกับการทำให้ประสบการณ์การร่วมงานอีเวนต์ของผู้ร่วมงานของคุณออกมาดีกว่าเดิมด้วย
หากสนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับซอฟต์แวร์การจัดการงานอีเวนต์ของเราเพิ่มเติมได้บนหน้าเว็บไซต์ครับ
สร้างคอนเทนต์เพิ่ม Engagement ป้อนกลุ่มผู้ร่วมงาน
การสร้างคอนเทนต์เพื่อดีงดูดผู้ร่วมงานไม่ใช่งานง่าย แต่คุณสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการวางกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตามมาในภายหลัง ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งรูปแบบของวิดีโอทีเซอร์ แนะนำ Speaker เด่นๆ ของงาน หรือโชว์ภาพเบื้องหลังการจัดงานต่างๆ (เป็นต้น)
ที่สำคัญคือคุณจะต้องมีเทคนิคในการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่ดี เพื่อกระตุ้นความอยากมาร่วมงานให้มากขึ้น อาจใช้วิธีการสร้างเนื้อหาในรูปแบบของ โพล หรือควิซเพื่อกระตุ้น Engagement หรือการแชร์ในหมู่ผู้ร่วมงานบนโลกออนไลน์ สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือความสม่ำเสมอของเนื้อหา (ทั้งด้านข้อความและภาพ) เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการร่วมงานในภายหลังด้วย
การสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์จะทำให้งานอีเวนต์ของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง ช่วยรักษาฐานผู้ร่วมงาน และช่วยให้เกิดการบอกต่อในแง่บวกไปพร้อมๆ กัน และนอกจากโซเชียลแล้วทางเราก็แนะนำให้ใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น Email Marketing ในการช่วยป้อนคอนเทนต์ให้ถึงผู้คนในวงที่กว้างขึ้นด้วย และสุดท้ายอย่าลืมติดตามและวิเคราะห์ยอด Engagement ที่ได้มาเพื่อนำมาพัฒนาเนื้อหาของงานให้ตอบโจทย์ผู้ร่วมงานมากขึ้นในอนาคตด้วยนะครับ
ทำแคมเปญยิงโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายตรงๆ
อีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถเพิ่มยอดผู้ร่วมงานให้คุณได้แน่ๆ คือการทำแคมเปญโฆษณาหากลุ่มเป้าหมายโดยตรง ซึ่งตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าจะไม่ใช่การปล่อยโฆษณาออกไปหาใครก็ได้แบบไม่มีการวางแผน แต่เป็นการป้อนเนื้อหาไปสู่สายตาของคนที่มีแนวโน้มอยากมาร่วมงานมากกว่าจริงๆ ซึ่งสามารถทำออกมาได้หลายวิธี อาจเป็นโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย Google Ads หรือจะทำคอนเทนต์แบบ Sponsored (งานจ้าง) ผ่านเว็บไซต์หรือบล็อกที่กลุ่มเป้าหมายสนใจก็ได้เช่นกัน หากมีข้อมูลประเภท Demographic ความสนใจ ที่อยู่ ฯลฯ มาใช้ประกอบด้วยก็จะทำให้โฆษณาของคุณวิ่งไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น
และเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณจะต้องคอยติดตามและวิเคราะห์เป็นระยะๆ ว่า Performance ของตัวโฆษณาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงและควบคุมงบประมาณในการลงโฆษณาให้คุ้มที่สุด การวางแผนโฆษณาอย่างรอบคอบจะทำให้คุณได้ทั้งการมองเห็น การรับรู้เกี่ยวกับงานอีเวนต์ที่กำลังจะจัดได้มากขึ้น และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ถูกกลุ่มอย่างชัดเจนด้วยครับ
ฟังเสียงตอบรับจากผู้ร่วมงานเพื่อนำมาปรับปรุงงานครั้งต่อไป
การศึกษาสิ่งที่เคยทำไปแล้วในอดีตคืออีกขั้นตอนที่จะทำให้งานอีเวนต์ครั้งต่อไปของคุณประสบความสำเร็จได้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าคุณมีการวัดผลจากเสียงตอบรับของผู้ร่วมงาน ข้อมูลตรงนี้จะกลายมาเป็น Insight ที่มีค่าและต่อยอดเป็นการพัฒนากลยุทธ์สำหรับงานครั้งต่อไปได้ หนึ่งในวิธีเก็บฟีดแบ็กที่ได้ผลมากที่สุดคือการปล่อยแบบสอบถาม (Survey) ไปหาผู้ร่วมงานเพื่อถามความเห็นแบบตรงไปตรงมา วิธีนี้จะทำให้คุณเห็น Performance ของงานในหลายแง่มุม ทั้งยอดขายบัตร Engagement บนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ด้วย เป็นต้น
การนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์จะช่วยให้คุณมองเห็นได้ชัดขึ้นว่าส่วนไหนในการทำงานที่จะต้องพัฒนาต่อ และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยยึดฐานข้อมูลที่มีเป็นหลัก (Data-driven Decision) สำหรับงานครั้งต่อไปในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น หากมีการคอมเพลนเรื่องแถวเข้างานที่ยาวเหยียดอย่างต่อเนื่อง งานครั้งต่อไปอาจจะต้องมีระบบเช็กอินเข้างานแบบดิจิทัลเข้ามาช่วย หรือถ้าโพสต์บนโซเชียลมีเดียของคุณได้เอ็นเกจเมนต์ที่สูงกว่าการทำ Email Marketing คุณก็อาจจะปรับสัดส่วนความสำคัญของการสื่อสารมาลงตรงนี้แทนได้มากขึ้น
การเก็บข้อมูลเสียงตอบรับของงานอีเวนต์เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนางานครั้งต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่สามารถช่วยให้คุณทำงานตรงนี้ได้สะดวกขึ้น รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยให้คุณตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นหลายตัว พูดได้เลยว่าหากคุณมีเครื่องมือทำแบบสอบถามและกลยุทธ์ที่ถูกต้อง งานส่วน Event Marketing ของคุณจะยกระดับขึ้นไปอีกขั้น และการจะได้ผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ ไปจะไม่เป็นเรื่องยากอีกเลยครับ
ใช้ Data ในมือเพื่อส่งปรับแต่งประสบการณ์งานอีเวนต์ให้เหมาะกับผู้ร่วมงาน
หากคุณเป็น Event Planner การสร้างประสบการณ์งานอีเวนต์ที่ไม่เหมือนใคร และออกแบบอย่างเหมาะสมกับผู้ร่วมงานแต่ละกลุ่ม/คน (ที่เรียกกันว่าการ Personalize) คือหนึ่งในภารกิจหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ และการทำความเข้าใจความต้องการและความชอบที่แตกต่างกันของผู้ร่วมงานก็เป็นส่วนที่ท้าทายมาก การนำดาต้าเหล่านี้ขึ้นมาใช้จะช่วยให้คุณค้นพบ Insight เกี่ยวกับพฤติกรรม ความใจ ความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมกับงาน ฯลฯ และทำให้คุณสามารถนำไป Personalize ประสบการณ์งานอีเวนต์ให้กับแต่ละคนได้
ข้อมูลในการทำงานส่วนนี้สามารถเก็บได้จากหลายแหล่ง ทั้งจากแบบฟอร์มการลงทะเบียน โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่แอปพลิเคชันของงานอีเวนต์นั้นๆ (ถ้ามี) ซึ่งข้อมูลตรงนี้คุณสามารถแบ่ง Segment กลุ่มเป้าหมายของงานและปรับแต่งวิธีการสื่อสารทางการตลาดให้เหมาะสมกับความสนใจและความชอบของแต่ละกลุ่มได้ รวมถึงยังสามารถใช้ดาต้าตรงนี้ในการเลือกแนะนำ Session ที่น่าสนใจในงาน คนที่เหมาะจะ Networking ด้วย หรือผู้จัดแสดงสินค้าที่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น
เรื่อง Personalization ไม่ใช่แค่การยกระดับประสบการณ์การร่วมงานอีเวนต์ แต่สามารถต่อยอดไปถึงเรื่องของการเพิ่ม Engagement ความพึงพอใจ รวมไปถึง Loyalty ได้ด้วย ด้วยเครื่องมือและกลยุทธ์ที่ถูกต้อง คุณจะสามารถดึงพลังของ Event Data ออกมาได้อย่างเต็มที่ และทำให้งานอีเวนต์ของคุณทั้งอิมแพ็กต์และเป็นที่จดจำที่สุดได้อย่างไม่ยากเย็น
บทสรุป
โลกของการทำ Event Marketing มีแต่จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ความจริงข้อหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ การโปรโมตที่มีประสิทธิภาพสามารถชี้เป็นชี้ตายงานอีเวนต์ของคุณได้ เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ข้อมูลที่ช่วยให้คุณสามารถต่อยอดงาน Event Marketing ของคุณได้
และถ้าคุณกำลังมองหาเครื่องมือในการช่วยโปรโมตหรือจัดการงานอีเวนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทาง Happenn ของเราก็สามารถช่วยคุณในส่วนนี้ได้ ด้วยเครื่องมือหลายๆ อย่างที่เรามี ตั้งแต่ระบบลงทะเบียนร่วมงานไปจนถึงระบบทำแบบสอบถาม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้าเว็บไซต์ของเรา หรือติดต่อเราทาง hello@happenn.com หรือกกรอกแบบฟอร์มนัดประชุมปรึกษาเรื่องงานอีเวนต์กับเราได้ (ฟรี) คลิกที่นี่ได้เลยครับ