บล็อก
งานอีเวนต์แบบออนไลน์

ร่วมกันทำให้งานอีเวนต์ของคุณเป็นมิตรต่อ LGBTQ+

เขียนเมื่อ JUL 15, 2022

เดือน Pride Month ช่วงเวลาแห่งการสดุดีความหลากหลายทางเพศกลับมาอีกครั้ง ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าในเดือนนี้กลุ่มผู้สนับสนุน LGBTQ+ ทั่วโลกจะออกมาเดินขบวนเผื่อผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศให้ไปข้างหน้า แต่การเดิขบวนไม่ใช่วิธีเดียวสำหรับการสนับสนุนเหล่าผู้คนในคอมมิวนิตี้ ในโลกการทำงานก็สามารถทำได้เช่นกัน

ในบล็อกนี้ เราจะแนะนำไอเดียง่ายๆ ในการทำงานให้อีเวนต์ของคุณเป็นมิตร และไม่กีดกันกลุ่มผู้คนในชุมชน LGBTQ+ ให้ทราบกันคร่าวๆ

ผู้อ่านบางส่วนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็น หากงานอีเวนต์ที่จัดไม่ได้มีประเด็นเรื่องเพศเกี่ยวข้อง แต่อย่าลืมว่าที่จริงแล้วมีผู้คนทุกเพศอยู่ในทุกๆ วงการเป็นปกติอยู่แล้ว แรกๆ เรื่องนี้อาจฟังดูไม่จำเป็น แต่ถ้าได้เริ่มแล้ว (และทำได้ดี) ผู้คนก็จะจดจำอีเวนต์ของคุณเป็นหนึ่งในงานโปรดของพวกเขา หรืออาจจะนับเป็นพื้นที่ปลอดภ้ยที่สามารถกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้เลยก็เป็นได้

วิธีการที่เราแนะนำเหล่านี้สามารถทำไปใช้ในช่วงเวลาไหนของปีก็ได้ เพราะการสนับสนุนความเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในช่วง Pride Month อย่างเดียว และการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมีรสนิยมทางเพศแบบเดียวกัน แต่แปลว่าคุณมีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนร่วมโลกอยู่ในใจ และเรื่องนี้ไม่เคยมีอะไรผิด

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาสแแปลชสีรุ้งให้เจิดจ้าไปด้วยกันครับ

 

เทรนสตาฟของคุณให้เข้าใจนโยบายเรื่องนี้

เรื่องแรกคือคุณจะต้องทำให้ทีมงานด่านหน้าที่ต้องเจอกับผู้ร่วมงาน (ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์) เข้าใจถึงความสำคัญในการเลือกใช้คำ ว่าสามารถสร้างปัญหาตามมาได้มากแค่ไหนหากใช้ผิด โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราไม่สามารถระบุ เพศ ของใครคนใดคนหนึ่งจากภาพลักษณ์ที่เห็นได้อีกต่อไป คงจะเป็นการดีกว่าหากปฏิบัติกับทุกๆ คนด้วยมาตรฐานการเคารพที่เท่าเทียมและเหมือนกันตั้งแต่แรก

เรื่องเพศเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย แต่สิ่งแรกที่เริ่มได้ทันทีคือเรื่องง่ายๆ อย่างการหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียกทีระบุเพศ เช่น สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี คุณผู้ชาย คุณผู้หญิง เป็นต้น หรือทึกทักเพศของใครโดยภาพที่เห้นตรงหน้า (คนที่ดูคล้ายเพศหญิงอาจเรียกตัวเองเป็นเพศนอนไบนารีก็เป็นได้)

อาจฟังดูยากหากทีมงานของคุณไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องความลื่นไหลทางเพศมาก่อน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและดีพอที่จะเริ่มทำได้ในทันที

 

ทำให้แบบฟอร์มลงทะเบียนเปิดกว้างเรื่องเพศ

คุณอาจจะคุ้นเคยกับแบบฟอร์มลงทะเบียนหรือ RSVP ที่ให้เลือกแค่เพศหญิงหรือเพศชาย แล้วมี อื่นๆ เป็นทางเลือกแค่เพียงตัวเลือกเดียว การเปิดตัวเลือกแบบจำกัดมีข้อดีเรื่องความง่ายในการจัดการข้อมูลหลังบ้าน แต่ในอีกด้านก็ถือว่าเป็นการกีดกันทางเพศโดยอ้อมอย่างไม่รู้ตัว (เพราะใครที่ไม่ใช่ชาย-หญิง กลายเป็นเพศ อื่นๆ ไปทั้งหมด)

แทนที่จะให้เลือกจากตัวเลือกที่กำหนด วิธีง่ายๆ ที่สามารถเปลี่ยนได้ทันทีคือเปลี่ยนจาก อื่นๆ เป็น ไม่ระบุ (ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน เพราะแม้แต่สองเพศไบนารีก็สามารถเลือกใช้ข้อนี้ด้วยได้) หรืออีกวิธีคือการเปลี่ยนตัวเลือกให้เป็นช่องกรอกแบบฟอร์มที่ผู้ร่วมงานสามารถกรอกเพศของตัวเองได้อย่างอิสระ วิธีนี้ให้เสรีภาพกับผู้ร่วมงาน และเปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้จัดงานได้รู้จักกับเพศที่มีอยู่อย่างหลากหลายท่ามกลางข้อมูลที่ไหลเข้ามาด้วย นับเป็นสถานการณ์แบบ WIN-WIN ในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน

และเมื่อเราพูดถึงเรื่องของ เพศ คำนำหน้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องหยิบยกมาพูดด้วยเช่นกัน ในหัวข้อถัดไป เราจะลงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่าทำไมชื่อเรียกถึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ให้ผู้ร่วมงานสามารถกำหนดคำนำหน้าได้เอง

ในความซับซ้อนของเรื่องเพศ กรณีคลาสสิกที่สุดคือ การเรียกคนที่ดูคล้ายผู้หญิงเป็นเพศหญิงโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ระบุตัวเองเป็นเพศนั้นๆ (อาจจะเป็นเพศนอนไบนารีหรือเพศอื่นๆ ก็ได้) การทึกทักเรื่องเพศของคนอื่นไปเองอาจเป็นต้นตอของความรู้สึกแย่ๆ และทำให้การสนทนาเป็นไปในทางที่ไม่ดีโดยที่ไม่จำเป็น

และยิ่งกับงานอีเวนต์ที่คนแปลกหน้ามารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มีโอกาสไม่น้อยเลยที่ผู้ร่วมงาน หรือทีมงานของคุณจะเรียกเพศคนอื่นผิดโดยไม่ตั้งใจจากภาพลักษณ์ที่ปรากฎตรงหน้า วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้ก็คือการเปิดให้แต่ละคนเลือกคำนำหน้าของตนเองได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องเป็นเขา เธอ เสมอไป เพราะเริ่มมีกรณีการใช้ พวกเขา (they) ในการเรียกบุคคลคนเดียวแบบไม่ระบุเพศให้เห็นในต่างประเทศแล้ว

การติดคำนำหน้าเหล่านี้ไว้บนป้ายชื่อของแต่ละคนในงานอีเวนต์ หรือติดไว้กับชื่อในกรณีที่เป็นงานออนไลน์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ gender-assuming ระหว่างผู้ร่วมงาน และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้จัดงานอีเวนต์ที่ใส่ใจสังคมไปด้วยในเวลาเดียวกันครับ

 

อย่ากำหนด Dress Code แบบเจาะจงเพศ

งานอีเวนต์บางงานกำหนดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไว้ด้วย โดยปกติจะมีการระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ชายต้องแต่งชุดประมาณไหน ผู้หญิงต้องแต่งชุดประมาณไหน นี่คือหนึ่งในประเด็นที่คุณสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานอีเวนต์เช่นกัน

ซึ่งวิธีแก้ก็ง่ายมากๆ ได้แก่การนำเรื่อง เพศ ออกไปจากหัวข้อ Dress Code ของบัตรเชิญ เพียงแค่ระบุชนิดหรือสไตล์ของเสื้อผ้านที่เหมาะกับงานไว้ ด้วยวิธีนี้ บุคคลข้ามเพศจะสามารถเลือกแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะกับรูปร่างและความต้องการของตัวเองได้อย่างสบายใจ

 

(หากเป็นไปได้) ให้ “ความหลากหลาย” เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเลือกสปีกเกอร์ขึ้นพูด

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องถกเภียงกันต่อ เพราะในแง่หนึ่ง ความหลากหลายของผู้พูดก็ช่วยให้หัวข้อการบรรยายมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกแง่ก็ดูเหมือนเป็นการ “บังคับ” ให้ต้องมีความหลากหลายในรายการผู้พูด ไม่ว่าจะเป็นผลดีต่อเนื้อหาหรือไม่ก็ตาม

เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ เรายังคงแนะนำให้ยึดอยู่กับกฎข้อเดิม คือ เลือกผู้บรรยายในงานอีเวนต์จากหัวข้อคอนเทนต์หรือสิ่งที่พวกเขาถนัดเป็นหลัก แต่คอยย้ำตัวเองเรื่อยๆ เรื่องความหลากหลายทางเพศลงไปด้วย (หากเกี่ยวข้องกับหัวข้อของงานอีเวนต์ที่จัด) เพราะกลุ่มคน LGBTQ+ มีอยู่ในทุกวงการ เราเชื่อว่าเรื่องนี้มีประเด็นให้พูดในได้ทุกๆ อีเวนต์ และไม่มีใครจะพูดเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าคนที่เจอประสบการณ์มาด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้นด้วย

ถ้าคุณลองมองเข้าไปให้ลึกในวงการที่คุณอยู่แบบปราศจากอคติ เราเชื่อมากๆ ว่ายังไงก็จะได้เห็นปัญหาเรื่องเพศไม่มากก็น้อย ถ้าไม่หยิบยกมาพูดกันตั้งแต่ตอนนี้ การเลือกปฏิบัติและกดขี่ก็จะยังดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

 

ตรวจเอกสารพรีเซนเทชันต่าง ๆ ของสปีกเกอร์ทุกคน

แม้จะไม่ได้มีโอกาสสูงนักที่พรีเซนท์ต่างๆ ของผู้บรรยายจะก่อให้เกิดปัญหา แต่กันไว้ดีกว่าแก้ อย่างน้อยตรวจสอบไฟล์เนื้อหาให้ครบถ้วนก่อนเริ่มการบรรยายได้ก็จะได้ครับ

ขั้นตอนนี้ไม่ได้จะให้คุณไปยุ่งเกี่ยวกับทิศทางของเนื้อหาที่ผู้บรรยายเตรียมมานำเหนอ เพียงแต่เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเรื่องการใช้คำ และแนะนำให้แก้ไขให้เป็นมิตรมากยิ่งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็น และจะดีมากหากเราสามารถแจ้งเงื่อนไขเรื่องนี้กับคนที่เชิญมาพูดตั้งแต่ตอนต้น พวกเขาจะได้ไม่ต้องแก้ไขระหว่างการเตรียมงานพรีเซนท์ต่างๆ ในภายหลัง

 

วิธีที่หยิบยกมาพูดข้างต้น จะช่วยลดการกีดกันระหว่างเพศให้น้อยลงไปได้ไม่มากก็น้อย มันอาจไม่ถึงขั้นตีตรงลงไปถึงใจกลางของปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่เผชิญกันมายาวนาน แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะบอกให้พวกเขารู้ว่าเรายินดีต้อนรับ เรื่องนี้ดีกับทุกฝ่าย ทุกคน โดยเฉพาะคุณ

ก่อนจบบทความในวันนี้ เราอยากย้ำว่าให้คุณทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นมาตรฐานงานอีเวนต์ของคุณเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมาตรฐานสังคมในวันใดวันหนึ่ง การปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง Pride Month แล้วค่อยกระทำต่อกัน เรื่องนี้ทำได้ทุกวัน แค่คุณลงมือ

 

(Source: Successful Meetings, Meetings Today, Five to Nine)