Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /var/www/web2.happenn.com/wp-includes/functions.php on line 6114
ร่วมกันทำให้งานอีเวนต์ของคุณเป็นมิตรต่อ LGBTQ+ | Happenn
บล็อก
งานอีเวนต์แบบออนไลน์

ร่วมกันทำให้งานอีเวนต์ของคุณเป็นมิตรต่อ LGBTQ+

เขียนเมื่อ JUL 15, 2022

เดือน Pride Month ช่วงเวลาแห่งการสดุดีความหลากหลายทางเพศกลับมาอีกครั้ง ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าในเดือนนี้กลุ่มผู้สนับสนุน LGBTQ+ ทั่วโลกจะออกมาเดินขบวนเผื่อผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศให้ไปข้างหน้า แต่การเดิขบวนไม่ใช่วิธีเดียวสำหรับการสนับสนุนเหล่าผู้คนในคอมมิวนิตี้ ในโลกการทำงานก็สามารถทำได้เช่นกัน

ในบล็อกนี้ เราจะแนะนำไอเดียง่ายๆ ในการทำงานให้อีเวนต์ของคุณเป็นมิตร และไม่กีดกันกลุ่มผู้คนในชุมชน LGBTQ+ ให้ทราบกันคร่าวๆ

ผู้อ่านบางส่วนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็น หากงานอีเวนต์ที่จัดไม่ได้มีประเด็นเรื่องเพศเกี่ยวข้อง แต่อย่าลืมว่าที่จริงแล้วมีผู้คนทุกเพศอยู่ในทุกๆ วงการเป็นปกติอยู่แล้ว แรกๆ เรื่องนี้อาจฟังดูไม่จำเป็น แต่ถ้าได้เริ่มแล้ว (และทำได้ดี) ผู้คนก็จะจดจำอีเวนต์ของคุณเป็นหนึ่งในงานโปรดของพวกเขา หรืออาจจะนับเป็นพื้นที่ปลอดภ้ยที่สามารถกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้เลยก็เป็นได้

วิธีการที่เราแนะนำเหล่านี้สามารถทำไปใช้ในช่วงเวลาไหนของปีก็ได้ เพราะการสนับสนุนความเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในช่วง Pride Month อย่างเดียว และการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมีรสนิยมทางเพศแบบเดียวกัน แต่แปลว่าคุณมีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนร่วมโลกอยู่ในใจ และเรื่องนี้ไม่เคยมีอะไรผิด

ถ้าพร้อมแล้ว เรามาสแแปลชสีรุ้งให้เจิดจ้าไปด้วยกันครับ

 

เทรนสตาฟของคุณให้เข้าใจนโยบายเรื่องนี้

เรื่องแรกคือคุณจะต้องทำให้ทีมงานด่านหน้าที่ต้องเจอกับผู้ร่วมงาน (ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์) เข้าใจถึงความสำคัญในการเลือกใช้คำ ว่าสามารถสร้างปัญหาตามมาได้มากแค่ไหนหากใช้ผิด โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราไม่สามารถระบุ เพศ ของใครคนใดคนหนึ่งจากภาพลักษณ์ที่เห็นได้อีกต่อไป คงจะเป็นการดีกว่าหากปฏิบัติกับทุกๆ คนด้วยมาตรฐานการเคารพที่เท่าเทียมและเหมือนกันตั้งแต่แรก

เรื่องเพศเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย แต่สิ่งแรกที่เริ่มได้ทันทีคือเรื่องง่ายๆ อย่างการหลีกเลี่ยงการใช้คำเรียกทีระบุเพศ เช่น สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี คุณผู้ชาย คุณผู้หญิง เป็นต้น หรือทึกทักเพศของใครโดยภาพที่เห้นตรงหน้า (คนที่ดูคล้ายเพศหญิงอาจเรียกตัวเองเป็นเพศนอนไบนารีก็เป็นได้)

อาจฟังดูยากหากทีมงานของคุณไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องความลื่นไหลทางเพศมาก่อน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและดีพอที่จะเริ่มทำได้ในทันที

 

ทำให้แบบฟอร์มลงทะเบียนเปิดกว้างเรื่องเพศ

คุณอาจจะคุ้นเคยกับแบบฟอร์มลงทะเบียนหรือ RSVP ที่ให้เลือกแค่เพศหญิงหรือเพศชาย แล้วมี อื่นๆ เป็นทางเลือกแค่เพียงตัวเลือกเดียว การเปิดตัวเลือกแบบจำกัดมีข้อดีเรื่องความง่ายในการจัดการข้อมูลหลังบ้าน แต่ในอีกด้านก็ถือว่าเป็นการกีดกันทางเพศโดยอ้อมอย่างไม่รู้ตัว (เพราะใครที่ไม่ใช่ชาย-หญิง กลายเป็นเพศ อื่นๆ ไปทั้งหมด)

แทนที่จะให้เลือกจากตัวเลือกที่กำหนด วิธีง่ายๆ ที่สามารถเปลี่ยนได้ทันทีคือเปลี่ยนจาก อื่นๆ เป็น ไม่ระบุ (ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน เพราะแม้แต่สองเพศไบนารีก็สามารถเลือกใช้ข้อนี้ด้วยได้) หรืออีกวิธีคือการเปลี่ยนตัวเลือกให้เป็นช่องกรอกแบบฟอร์มที่ผู้ร่วมงานสามารถกรอกเพศของตัวเองได้อย่างอิสระ วิธีนี้ให้เสรีภาพกับผู้ร่วมงาน และเปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้จัดงานได้รู้จักกับเพศที่มีอยู่อย่างหลากหลายท่ามกลางข้อมูลที่ไหลเข้ามาด้วย นับเป็นสถานการณ์แบบ WIN-WIN ในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน

และเมื่อเราพูดถึงเรื่องของ เพศ คำนำหน้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องหยิบยกมาพูดด้วยเช่นกัน ในหัวข้อถัดไป เราจะลงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่าทำไมชื่อเรียกถึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ให้ผู้ร่วมงานสามารถกำหนดคำนำหน้าได้เอง

ในความซับซ้อนของเรื่องเพศ กรณีคลาสสิกที่สุดคือ การเรียกคนที่ดูคล้ายผู้หญิงเป็นเพศหญิงโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ระบุตัวเองเป็นเพศนั้นๆ (อาจจะเป็นเพศนอนไบนารีหรือเพศอื่นๆ ก็ได้) การทึกทักเรื่องเพศของคนอื่นไปเองอาจเป็นต้นตอของความรู้สึกแย่ๆ และทำให้การสนทนาเป็นไปในทางที่ไม่ดีโดยที่ไม่จำเป็น

และยิ่งกับงานอีเวนต์ที่คนแปลกหน้ามารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มีโอกาสไม่น้อยเลยที่ผู้ร่วมงาน หรือทีมงานของคุณจะเรียกเพศคนอื่นผิดโดยไม่ตั้งใจจากภาพลักษณ์ที่ปรากฎตรงหน้า วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้ก็คือการเปิดให้แต่ละคนเลือกคำนำหน้าของตนเองได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องเป็นเขา เธอ เสมอไป เพราะเริ่มมีกรณีการใช้ พวกเขา (they) ในการเรียกบุคคลคนเดียวแบบไม่ระบุเพศให้เห็นในต่างประเทศแล้ว

การติดคำนำหน้าเหล่านี้ไว้บนป้ายชื่อของแต่ละคนในงานอีเวนต์ หรือติดไว้กับชื่อในกรณีที่เป็นงานออนไลน์ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ gender-assuming ระหว่างผู้ร่วมงาน และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้จัดงานอีเวนต์ที่ใส่ใจสังคมไปด้วยในเวลาเดียวกันครับ

 

อย่ากำหนด Dress Code แบบเจาะจงเพศ

งานอีเวนต์บางงานกำหนดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไว้ด้วย โดยปกติจะมีการระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ชายต้องแต่งชุดประมาณไหน ผู้หญิงต้องแต่งชุดประมาณไหน นี่คือหนึ่งในประเด็นที่คุณสามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานอีเวนต์เช่นกัน

ซึ่งวิธีแก้ก็ง่ายมากๆ ได้แก่การนำเรื่อง เพศ ออกไปจากหัวข้อ Dress Code ของบัตรเชิญ เพียงแค่ระบุชนิดหรือสไตล์ของเสื้อผ้านที่เหมาะกับงานไว้ ด้วยวิธีนี้ บุคคลข้ามเพศจะสามารถเลือกแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เหมาะกับรูปร่างและความต้องการของตัวเองได้อย่างสบายใจ

 

(หากเป็นไปได้) ให้ “ความหลากหลาย” เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเลือกสปีกเกอร์ขึ้นพูด

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องถกเภียงกันต่อ เพราะในแง่หนึ่ง ความหลากหลายของผู้พูดก็ช่วยให้หัวข้อการบรรยายมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกแง่ก็ดูเหมือนเป็นการ “บังคับ” ให้ต้องมีความหลากหลายในรายการผู้พูด ไม่ว่าจะเป็นผลดีต่อเนื้อหาหรือไม่ก็ตาม

เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ เรายังคงแนะนำให้ยึดอยู่กับกฎข้อเดิม คือ เลือกผู้บรรยายในงานอีเวนต์จากหัวข้อคอนเทนต์หรือสิ่งที่พวกเขาถนัดเป็นหลัก แต่คอยย้ำตัวเองเรื่อยๆ เรื่องความหลากหลายทางเพศลงไปด้วย (หากเกี่ยวข้องกับหัวข้อของงานอีเวนต์ที่จัด) เพราะกลุ่มคน LGBTQ+ มีอยู่ในทุกวงการ เราเชื่อว่าเรื่องนี้มีประเด็นให้พูดในได้ทุกๆ อีเวนต์ และไม่มีใครจะพูดเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าคนที่เจอประสบการณ์มาด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้นด้วย

ถ้าคุณลองมองเข้าไปให้ลึกในวงการที่คุณอยู่แบบปราศจากอคติ เราเชื่อมากๆ ว่ายังไงก็จะได้เห็นปัญหาเรื่องเพศไม่มากก็น้อย ถ้าไม่หยิบยกมาพูดกันตั้งแต่ตอนนี้ การเลือกปฏิบัติและกดขี่ก็จะยังดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

 

ตรวจเอกสารพรีเซนเทชันต่าง ๆ ของสปีกเกอร์ทุกคน

แม้จะไม่ได้มีโอกาสสูงนักที่พรีเซนท์ต่างๆ ของผู้บรรยายจะก่อให้เกิดปัญหา แต่กันไว้ดีกว่าแก้ อย่างน้อยตรวจสอบไฟล์เนื้อหาให้ครบถ้วนก่อนเริ่มการบรรยายได้ก็จะได้ครับ

ขั้นตอนนี้ไม่ได้จะให้คุณไปยุ่งเกี่ยวกับทิศทางของเนื้อหาที่ผู้บรรยายเตรียมมานำเหนอ เพียงแต่เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเรื่องการใช้คำ และแนะนำให้แก้ไขให้เป็นมิตรมากยิ่งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็น และจะดีมากหากเราสามารถแจ้งเงื่อนไขเรื่องนี้กับคนที่เชิญมาพูดตั้งแต่ตอนต้น พวกเขาจะได้ไม่ต้องแก้ไขระหว่างการเตรียมงานพรีเซนท์ต่างๆ ในภายหลัง

 

วิธีที่หยิบยกมาพูดข้างต้น จะช่วยลดการกีดกันระหว่างเพศให้น้อยลงไปได้ไม่มากก็น้อย มันอาจไม่ถึงขั้นตีตรงลงไปถึงใจกลางของปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่เผชิญกันมายาวนาน แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะบอกให้พวกเขารู้ว่าเรายินดีต้อนรับ เรื่องนี้ดีกับทุกฝ่าย ทุกคน โดยเฉพาะคุณ

ก่อนจบบทความในวันนี้ เราอยากย้ำว่าให้คุณทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นมาตรฐานงานอีเวนต์ของคุณเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมาตรฐานสังคมในวันใดวันหนึ่ง การปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง Pride Month แล้วค่อยกระทำต่อกัน เรื่องนี้ทำได้ทุกวัน แค่คุณลงมือ

 

(Source: Successful Meetings, Meetings Today, Five to Nine)